ในสมัยพุทธกาลมีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งชื่อนายเขมกะ เป็นหลานของอนาถบิณฑิกเศรษฐี นายเขมกะเป็นชายหนุ่มมีรูปงาม หล่อเหลา หญิงสาวจำนวนมากเมื่อเห็นเขาแล้วจะถูกราคะครอบงำ ไม่สามารถจะดำรงสติของตนไว้ได้ เป็นเหตุให้นายเขมกะต้องผิดศีลกาเมฯ คือ เป็นชู้กับภรรยาของชายอื่นอยู่เป็นประจำ และการเป็นชู้เป็นสิ่งที่เขาชอบมาก
ต่อมาคืนหนึ่ง ราชบุรุษจับเขาในข้อหาเป็นชู้นั่นแหละแล้วนำไปให้พระราชาตัดสินโทษ พระราชามิได้ตรัสอะไรกะเขาเพราะทรงเกรงใจท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
หลังจากนั้นราชบุรุษก็จับเขาในคดีเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่นอีก 2 ครั้ง พระราชาก็สั่งให้ปล่อยเช่นเคย เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบเรื่องจึงพาเขาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องนั้นแล้วทูลว่า "ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมแก่นายเขมกะนี้"
พระพุทธเจ้าจึงตรัส "สังเวคกถา" แสดงโทษของการเป็นชู้กับภรรยาของคนอื่นว่า "ผู้ประมาทชอบเสพภรรยาของคนอื่น ย่อมได้สิ่งที่มิใช่บุญ ย่อมไม่ได้นอนตามความปรารถนา ย่อมถูกนินทา ตายแล้วก็ไปนรก ความยินดีของบุรุษผู้กลัวกับด้วยหญิงผู้กลัวมีประมาณน้อย พระราชาย่อมลงอาชญาอย่างหนักเพราะฉะนั้น ไม่ควรเสพภรรยาของคนอื่น" ในเวลาจบเทศนา นายเขมกะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ทำให้เลิกนิสัยการเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่นได้อย่างเด็ดขาด
ในอดีตชาติหนึ่งหลังจากพระกัสสปพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว นายเขมกะเป็นนักมวยที่เก่งที่สุด วันหนึ่งได้ยกธงทอง 2 แผ่นขึ้นบูชาที่สถูปทองคำของพระกัสสปพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาว่า "เว้นหญิงที่เป็นญาติสาโลหิตเสีย หญิงที่เหลือเห็นเราแล้วจงกำหนัด" นี้คือบุรพกรรมของเขา เพราะฉะนั้นหญิงที่มีกรรมกาเมฯอยู่มากเมื่อเห็นเขาจึงไม่อาจดำรงสติได้ยอมเป็นชู้กับเขาโดยง่าย
ข้อคิด และอ้างอิง
1. บุญเปรียบเสมือนเงิน คือ เอาเงินซื้ออะไรก็ได้สิ่งนั้น เอาบุญไปอธิษฐานสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น ในฉัททันตชาดกนางจุลลสุภัททาได้ทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วอธิษฐานด้วยความน้อยใจและโกรธสามีซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ว่า ขอให้ได้เกิดเป็นมเหสีของกษัตริย์แล้วส่งพรานมาฆ่าสามีให้ตาย ซึ่งบุญก็ส่งผลให้ได้ตามนั้นจริง แต่ตัวเองซึ่งระลึกชาติได้ก็เสียใจยิ่งกว่าเดิมจนใจแตกสลายตายตามสามีไป และเมื่อตายด้วยใจเศร้าหมองก็ต้องไปอบายภูมิ
จะเห็นว่า อธิษฐานอย่างไรก็ได้อย่างนั้นจริงๆการอธิษฐานในสิ่งที่ไม่ดี จะมีโอกาสให้ทำผิดศีลและตกนรกยาวนานทีเดียว แต่นายเขมกะทำบุญมาดีจึงได้อนาถบิณฑิกเศรษฐีและพระพุทธเจ้าช่วยไว้ ดังนั้น หลักการอธิษฐานที่ดีจึงควรให้เกื้อหนุนต่อการสร้างบุญและทำความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป
2. หลักการและวิธีการอธิษฐานที่ถูกต้อง โดยละเอียดอ่านจากลิงค์นี้นะ
https://www.facebook.com/329185977268806/photos/a.329502483903822/1552165951637463/?type=33. พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย เล่ม 43 หน้า 205 - 208, เล่ม 61 หน้า 370 - 408.