✍ พิจารณากรรมดี-ชั่ว
ในการตัดสินเรื่องกรรมดีหรือชั่วนั้น ข้อสำคัญคือ ขอให้เราวางใจให้เป็นกลาง แล้วเราจะดูออก ถ้าเข้าข้างตัวเองแล้วดูไม่ออก
มีเด็ก ๗ ขวบถามพระพุทธองค์ในเรื่องกรรมดีกรรมชั่วเป็นอย่างไร ซึ่งกรณีของเด็กพระองค์ก็ตรัสให้เหมาะสมกับเด็ก ให้เด็กเข้าใจง่าย ๆ ว่า
ทำอะไรแล้วไม่ร้อนเขาไม่ร้อนเรา สิ่งนั้นดี แต่ว่าทำอะไรแล้ว ร้อนเขาเย็นเรา หรือร้อนเราเย็นเขา สิ่งนั้นไม่ดี ยิ่งร้อนทั้งเขาร้อนทั้งเรายิ่งไม่ดีใหญ่ อันนี้เป็นเรื่องของการตอบเด็ก
สำหรับตรัสสอนผู้ใหญ่ก็ให้พิจารณาต้นทาง กลางทาง และปลายทางในการทำกรรมนั้น ๆ
ต้นทาง คือ ก่อนจะลงมือทำอะไรก็ตาม ให้ถามตัวเองว่า ทำเพราะความโลภ ความโกรธ และความหลงหรือไม่
หากทำสิ่งใดเพราะความโลภ ความโกรธ และความหลง สิ่งนั้นเป็นกรรมชั่ว อย่าไปทำนะลูก หากทำสิ่งใดเพราะความไม่โลภ ไม่โกรธ และไม่หลง อันนั้นเป็นกรรมดี ทำไปเถอะ
เมื่อเราตั้งต้นทำด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงแล้ว ยังไม่พอ กลางทางหรือระหว่างที่เราทำนั้น ทำอยู่บนพื้นฐานของกุศลหรืออกุศล โดยท่านใช้คำว่า กุศลกรรมบถ เป็นตัววัด ซึ่งมีอยู่ ๑๐ ข้อด้วยกัน
ทางกาย ๓ ข้อ คือ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่เจ้าชู้หรือไม่ประพฤติผิดในกาม
ทางวาจาอีก ๔ ข้อ คือ ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง และไม่พูดยุให้รำตำให้รั่ว ภาษาพระใช้คำว่าส่อเสียด
และทางใจอีก ๓ ข้อ คือ ไม่คิดจ้องอยากได้ของคนอื่นในทางไม่ชอบ ไม่จ้องพยาบาทตามล้างตามผลาญใคร และไม่ทำให้เราเป็นคนเห็นผิดจากธรรม
หากทำไปแล้วไม่ละเมิดทั้ง ๑๐ ข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นการทำอยู่บนพื้นฐานของความดี
ในส่วนปลายทางนั้น บังคับให้เราต้องคิดให้ไกล ๆ คือ คิดไปถึงจุดสุดท้ายหลังทำเสร็จแล้วเลยว่า หากทำสิ่งใดแล้วต้องเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลังสิ่งนั้นอย่าทำเลย เป็นกรรมชั่ว ตรงกันข้ามทำสิ่งใดแล้วไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง สิ่งนั้นเป็นกรรมดีทำเถอะลูก
๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗
#ทำดี
#กรรม
#ธรรมะ
#หลวงพ่อทัตตชีโว
0 สาธุ